นวัตกรรม ความคิดใหม่ ฝาขวด

News & Updates

Archive for July, 2013

แนวโน้มบรรจุภัณฑ์ ปี 2556

เมื่อพูดถึงกระแสของบรรจุภัณฑ์ ปี 2556 Scott Steele ประธานบริษัท Plastics technology ยังคงให้ความสำคัญกับวิธีการในการปกป้องสินค้าอย่างคุ้มค่า ถึงแม้ภาพลักษณ์ของยี่ห้อสินค้า รูปทรง รูปแบบต่างๆ รวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ แต่หลักๆ แล้วต้นทุนยังคงเป็นคำตอบของทุกสิ่ง อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการลดต้นทุนแล้ว ยังมีหลายปัจจัยที่อุตสาหกรรมให้ความสนใจในปี 2556 นี้

การรีไซเคิล – ถึงแม้กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ยังคงอยู่ในกระแสได้ตลอดเวลา สมาคม American Chemistry Council และ สมาคมผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก (The Association of Postconsumer Plastic Recyclers หรือ APR) เปิดเผยสถานการณ์การรีไซเคิลในปี 2555 ว่าเป็นมีการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสมาคมเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถผลักดันให้มีการรีไซเคิลเพิ่มขี้นได้ รวมถึงให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคด้านการรีไซเคิลพลาสติก จากรายงานวิจัยจาก The Freedonia Group. คาดว่าสหรัฐอเมริกามีความต้องการเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลพลาสติกปีละ 6.5% เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการรีไซเคิลพลาสติกน้ำหนัก 3500 ล้านปอนด์ภายในปี 2559 ซึ่งการไปถึงเป้าหมายนี้ต้องมีการขับเคลื่อนหลายปัจจัยพร้อมกัน ได้แก่การเน้นย้ำความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน การพัฒนากระบวนการ และค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติกได้หลากหลายและเปลี่ยนเป็นเม็ดเรซินที่มีคุณภาพสูง รวมถึงพัฒนากระบวนการและขั้นตอนในการเก็บและการแยกขยะ นอกจากนั้นการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลระดับประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้

ปริมาณการใช้งานพลาสติกชีวภาพที่เพิ่มขึ้น – ถึงแม้พลาสติกชีวภาพมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1% ของยอดจำหน่ายพลาสติกทั้งหมด แต่นักวิจัยการตลาดจาก NanoMarkets คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7% ภายในปี 2563 อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีศักยภาพสูงสุดในการแข่งขันในตลาด พลาสติกชีวภาพต้องมีราคาที่ต่ำลง โดยปัจจุบันพลาสติกชีวภาพมีราคาสูงเป็น 2-3 เท่าตัวของราคาพลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงมากนั่นเอง การลดต้นทุนสามารถทำได้ถ้ามีปริมาณการใช้งานในสเกลใหญ่ขี้น และการใช้วัตถุดิบราคาถูกในกระบวนการผลิต เช่น การใช้แป้งมันสำปะหลังผลิต PLA ชีวภาพ (Bio-poly lactic acid) ซึ่งสามารถลดต้นทุนของวัตถุดิบลงได้ 70% นอกจากนั้นการปรับปรุงสมบัติเชิงเทคนิคของพลาสติกชีวภาพเพื่อให้ใช้งานได้กว้างขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ สำหรับขวดน้ำพลาสติกจะมีการใช้ PET ชีวภาพ (Bio-PET) แทนพลาสติกที่มาจากฟอสซิลทั้งหมด รวมถึงจะมีการนำโฟม PLA เข้าไปใช้ในงานบรรจุภัณฑ์อาหารด้วย

การเปิดตลาดเป็นกุญแจสำคัญ – บริษัท PCI Films Consulting ระบุ 13 ตลาดที่น่าสนใจสำหรับงานบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (Flexible packaging) ได้แก่ โปแลนด์ รัสเซีย ตรุกรี เม็กซิโก บราซิล อินเดีย อินโดนิเซีย ไทย เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจิเรียและแอฟริกาใต้ ซึ่งตลาดเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ และมีการเติบโตเกือบ 70% ตั้งแต่ปี 2549 โดยปัจจุบันคิดเป็น 20% ของความต้องการในตลาดโลก เป็นที่น่าสนใจว่าถึงแม้หลายประเทศจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจแต่ยังสามารถรับสถานการณ์ได้ดีด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปีตั้งแต่ปี 2549  อีกเหตุผลหนึ่งที่งานบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนนี้มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนประชากรและจำนวนซุปเปอร์มาร์เกตที่เพิ่มขึ้น

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของบรรจุภัณฑ์แบบ Pouches – Pouches เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นถุงทนความร้อน จากรายงานวิจัยของบริษัท Mintel International.ในปี 2553 ที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์ใหม่ถึง 1210 รายการที่บรรจุในถุง Pouches ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 885 รายการในปี 2550 นอกจากนั้นบริษัท Freedonia Group ยังเปิดเผยว่าความต้องการของบรรจุภัณฑ์แบบ Pouches ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 5.1% ต่อปีจนเป็น 8800 ล้านดอลลาร์ ในปี 2559. สำหรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ Pouches ชนิดตั้งได้ (Stand-up pouch) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.2% ทุกปีและมีมูลค่า 2000 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 โดยมีอุตสาหกรรมอาหารเป็นตลาดใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ Pouches มีข้อได้เปรียบในเรื่องน้ำหนักเบา ประหยัดค่าขนส่งและลดปริมาณการใช้วัสดุเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์แบบแข็ง ในยุโรปกำลังนิยมใช้บรรจุภัณฑ์ Pouches ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงและน้ำผลไม้สำหรับเด็ก จากรายงานวิจัยยังพบว่าผู้บริโภคกลุ่มอายุ 18-25 ปีคิดว่าการใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ในกระป๋องเป็นเรื่องเชยและชื่นชอบบรรจุภัณฑ์ Pouches มากกว่า

Credit: plastic.oie.go.th/ReadArticle.aspx?id=7455

Posted in: Knowledge

Leave a Comment (0) →

พลาสติกจากข้าวโพด

เมื่อกล่าวถึงพลาสติก น่าจะเป็นที่แน่ชัดว่าทุกคนคงรู้จัก และเคยสัมผัสกับวัสดุชนิดนี้ เนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในเกือบจะทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน พลาสติกเป็นสารพอลิเมอร์ (polymer) ซึ่งสังเคราะห์ได้จากการที่นำเอาหน่วยเล็กๆ ของสารประกอบที่มีโครงสร้างเหมือนกัน ที่เรียกว่ามอนอเมอร์ (monomer) มาเรียงต่อเป็นสายโซ่ยาว ซึ่งหากเปลี่ยนชนิดของมอนอเมอร์ที่ใช้ ก็จะได้สารพอลิเมอร์ที่มีชื่อ และคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น หากใช้สไตรีน (styrene) เป็นมอนอเมอร์ ก็สามารถสังเคราะห์เป็นพอลิสไตรีน (polystyrene) ที่ใช้ผลิตโฟม หรือแก้วกาแฟ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสารมอนอเมอร์ชนิดอื่นอีกมากมายที่นิยมนำมาผลิตเป็นพลาสติก ตัวอย่างเช่น ethylene และ propylene (ถุงพลาสติก), vinyl chloride (ท่อประปา), ethylene terephthalate (ขวด PET) ซึ่งสารมอนอเมอร์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบ ทั้งจากการกลั่นแยกปิโตรเลียมโดยตรง หรือนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีอื่นก็ได้ เนื่องจากพลาสติกมีคุณสมบัติที่หลากหลาย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้อัตราการผลิตและบริโภควัสดุชนิดนี้มีสูงมาก

.แต่อย่างไรก็ตามพลาสติกที่ผลิตได้เหล่านี้ก็กำลังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น เนื่องจากอัตราการกำจัดพลาสติกที่ใช้แล้วไม่สมดุลกับอัตราการผลิตนั่นเอง สืบเนื่องจากกระบวนการกำจัดวัสดุเหล่านี้หลังการใช้งานนั้นทำได้ยาก เพราะพลาสติกสามารถย่อยสลายได้ยากมาก หรือบางชนิดก็ไม่สามารถสลายตัวได้เลย แม้ในปัจจุบันจะมีการรณรงค์ให้นำพลาสติกบางชนิดกลับมาใช้ใหม่ โดยกระบวนการ recycle แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราการผลิตและการบริโภค นอกจากนี้วิธีการอื่นๆที่สามารถนำมาใช้เพื่อจัดการกับวัสดุเหล่านี้ เช่น การฝังกลบ การเผา ก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก เช่น การรั่วไหลของสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ หรือการเกิดก๊าซจากการเผาไหม้ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุณค่าทางทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณา นอกจากปัญหาด้านอัตราการบริโภค และการกำจัดขยะพลาสติกดังที่กล่าวมาแล้ว ราคาของปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นต่อไปอีกในอนาคต อันเนื่องมาจากหลักการตลาดของอุปสงค์และอุปทาน เพราะปริมาณปิโตรเลียมสำรองในธรรมชาติลดลง แต่กระบวนการเกิดขึ้นใหม่ตามธรรมชาติต้องใช้เวลานับร้อยๆปีในการทับถมของซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งไม่สมดุลกับอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น จึงมีการคาดหมายว่าปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะหมดไปจากโลกภายในแวลาอีกไม่เกิน 100 ปีข้างหน้า สาเหตุเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเพื่อผลิตวัสดุที่มีสมบัติทางกายภาพเทียบเคียงกับพลาสติก แต่สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบที่ไม่ได้มาจากปิโตรเลียม และมีสมบัติที่สำคัญคือ สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีการ ผลิตพอลิเมอร์ตามวัตถุประสงค์นี้ได้หลายชนิด

ในโอกาสนี้จะนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับพอลิแล็คติก แอสิด (polylactic acid) หรือพอลิแล็คไทด์ (polylactide) ก่อน เนื่องจากเป็นวัสดุที่ได้รับความสนใจผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้าอย่างแพร่หลายในขณะนี้ โดยพอลิเมอร์ชนิดนี้สังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบทางการเกษตรจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรืออ้อย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ข้าวโพดเป็นหลัก กระบวนการสังเคราะห์พอลิแล็คติก แอสิดถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดยนักวิจัยจากบริษัท Dupont ในสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ W.H. Carothers เมื่อปี ค.ศ. 1932 หลังจากนั้นก็มีการศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีบริษัทที่ผลิตพอลิเมอร์ชนิดนี้ทางการค้าหลายบริษัท ที่สำคัญ คือ บริษัท Cargill Dow ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท Mitsui Chemical ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

Credit: vcharkarn.com/varticle/277

Posted in: Knowledge

Leave a Comment (0) →